Skip to content
สิทธิประโยชน์ด้านรายจ่าย
1.พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548
เป็นกรณีการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล 2 กรณี คือ การให้การศึกษาหรือการฝึกอบรมแก่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น และการดำเนินการจัดการฝึกอบรม ดังนี้
(1) กรณีการให้การศึกษาหรือการฝึกอบรม
(1.1) ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการส่ง ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมในสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นหรือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดในราชกิจจา-นุเบกษา กรณีการจัดการฝึกอบรมตาม (1.1) นี้เป็นกรณีการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมในสถานศึกษาหรือสถาน ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน 2 กรณี คือสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่ทางราชการจัดตั้งขึ้น ประการหนึ่ง และสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดอีกประการหนึ่ง ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดสถานศึกษา หรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่รับลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเข้าศึกษาหรือฝึกอบรม ตามประกาศกระทรวงการคลังลง วันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 สรุปได้ดังนี้
(ก) สถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่จะให้บริการการศึกษาหรือฝึกอบรมต้องเป็นสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานเฉพาะที่มีฐานะเป็นมูลนิธิ สมาคม บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ
(ข) ต้องเป็นการศึกษาหรือฝึกอบรมในประเทศไทยเพื่อพัฒนาคุณภาพ ความรู้ความสามารถ ทักษะ ฝีมือของลูกจ้างให้สูงขึ้น เพื่อประโยชน์ของกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นนายจ้าง
(ค) หลักสูตรที่สถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานใช้ในการให้บริการการศึกษาหรือฝึกอบรมลูกจ้างของบริษัทหรือห้าง-หุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น แบ่งเป็น 2 ลักษณะดังนี้
กรณีสถานศึกษา
-ต้องจัดการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการสำหรับการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่าอุดมศึกษา หรือ
-ต้องจัดการศึกษาตามหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรือ
-ต้องจัดการศึกษาตามหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการสำหรับโรงเรียนนอกระบบ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือ
-ต้องจัดการฝึกอบรมให้แก่สาธารณชนเป็นการทั่วไป (Public Training) หรือให้แก่ลูกจ้างของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันตามหลักสูตรที่สถานศึกษานั้นๆ ได้จัดขึ้น
กรณีสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงาน
ต้องจัดการฝึกอบรมให้แก่สาธารณชนเป็นการทั่วไป (Public Training) หรือให้แก่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน-นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจเป็นเครือ-ข่ายกัน เช่น ตัวแทนจำหน่ายสินค้า ศูนย์บริการซ่อมสินค้า เป็นต้น
(ง) ค่าใช้จ่ายเพื่อส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรม ประกอบด้วย
-ค่าใช้จ่ายการศึกษาที่เป็นค่าเล่าเรียน ค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุง
-ค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมที่เป็นค่าธรรมเนียมเข้าอบรมหรือค่าลงทะเบียน
ค่าใช้จ่ายข้างต้นหมายความรวมไปถึง ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทางเพื่อเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรม และค่าใช้จ่ายในการดูงาน ในประเทศหรือต่างประเทศตามที่กำหนดในหลักสูตร (ถ้ามี) ที่สถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานเรียกเก็บจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลด้วย
(จ) ต้องมีใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่ออกให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เพื่อเรียกเก็บ ค่าใช้จ่ายการศึกษาหรือค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการใช้สิทธิยกเว้นภาษี-เงินได้สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น
สำหรับกรณีใบเสร็จรับเงินได้ออกให้ลูกจ้าง ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นได้
(ฉ) ต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับค่า ใช้จ่ายต่างๆ พร้อมแนบรายละเอียดและกำหนด การฝึกอบรมในหลักสูตรนั้นเก็บไว้ ณ สถานประกอบการเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นแสดงต่อเจ้าพนักงาน
(ช) ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานให้แก่บริษัทหรือห้าง หุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น หลังจากสำเร็จการศึกษาหรือผ่านการฝึกอบรมแล้ว
(1.2) ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ทั้งนี้ ตามหลัก-เกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
สำหรับกรณีการจัดการฝึกอบรมตาม (1.2) นี้ กรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ไว้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 148) สรุปได้ดังนี้
(ก) ต้องเป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานของลูกจ้าง และได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงาน และค่าใช้จ่าย ในการฝึกอบรมลูกจ้างแต่ละคนนั้นต้องเป็นไปตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงแรงงาน
(ข) การฝึกอบรมต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นนายจ้าง
(ค) ต้องเป็นลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น
(ง) ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขให้ลูกจ้างที่เข้ารับการฝึกอบรมนั้นกลับเข้าทำงานให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นหลังจากการฝึกอบรมเสร็จสิ้น
(จ) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดการฝึกอบรมนั้น ต้องกำหนดลักษณะ ขนาด และคุณสมบัติของวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อมิให้ปะปนกับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบกิจการตามปกติ
รายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมตาม พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 437) นี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนฯ ผู้จ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวสามารถนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ทั้งจำนวน และยังสามารถนำไปยกเว้นภาษีได้อีกจำนวนร้อยละ 100 หรืออาจกล่าวได้ว่าสามารถนำมาใช้เป็นรายจ่ายได้เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปนั่นเอง
(2) กรณีการดำเนินการจัดการฝึกอบรม
(2.1) ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 50 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกเตรียมเข้าทำงานเพื่อประโยชน์ของกิจการของผู้ดำเนินการฝึก ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2546 ถึงวันก่อนวันที่ พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ (วันที่ 18 ตุลาคม 2548)
(2.2) ยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่า ใช้จ่ายในการฝึกเตรียมเข้าทำงานเพื่อประโยชน์ของกิจการของผู้ดำเนินการฝึก ตั้งแต่วันที่ พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ (19 ตุลาคม 2548)